top of page

การปฏิวัติ Fintech กำลังจะเกิดขึ้น!

การปฏิวัติ Fintech กำลังจะเกิดขึ้น!

สองสตาร์ทอัพที่โด่งดังและประสบความสำเร็จมากที่สุดทุกวันนี้ได้แก่ Uber และ Facebook โดย Uber เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างคนขับรถและผู้โดยสาร ส่วน Facebook เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เราสามารถสื่อสารกับเพื่อนๆ และอัพเดทกิจกรรมในแต่ละวันของตัวเรา แม้ไอเดียอาจจะดูธรรมดา แต่ธุรกิจสตาร์ทอัพมูลค่าหลักพันล้านเหรียญเกิดขึ้นจากการรวบรวมไอเดียที่ถูกออกแบบให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของคนในสังคม อย่างเช่น Uber เสนอบริการที่มากกว่าเพียงแค่การพบเจอกันระหว่างคนขับรถและผู้โดยสาร เพราะ Uber ยังให้ทางเลือกที่ถูกกว่า รวดเร็วกว่า และปลอดภัยกว่าแก่ผู้คนที่ต้องการเดินทาง อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการหารายได้เสริมให้แก่คนขับรถอีกด้วย Facebook ก็ไม่ได้เป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการเชื่อมต่อเพื่อนๆ และครอบครัว แต่ยังกลายเป็นช่องทางสำหรับข่าวสาร การช้อปปิ้ง และการแสดงออกทางความคิด

หนึ่งในความเข้าใจผิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมนี้คือความคิดที่ว่า สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จในช่วงข้ามคืน ความสำเร็จที่เราเห็นในทุกวันนี้ของ Uber เป็นเรื่องราวที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ส่วนที่ Facebook มีจำนวนผู้ใช้หลายพันล้านคน ก็เกิดจากการอดนอนเขียนโค้ดข้ามวันข้ามคืนที่เริ่มเมื่อ 13 ปีที่แล้ว สตาร์ทอัพคือสิ่งตรงข้ามของความรื่นรมย์ในสิ่งที่เรามีในวันนี้ มันไม่ใช่การแวะซื้อกาแฟที่ร้านระหว่างเดินไปทำงาน หรือการดาวน์โหลดหนังสือ e-book จาก Pirate bay มาเปิดอ่านในทันที แต่การอยู่รอดของสตาร์ทอัพอาศัยการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของความต้องการในสังคม และความยืดหยุ่นในการขยายและรักษาจำนวนลูกค้า ในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้ 90% ของสตาร์ทอัพล้มเหลว ผู้ก่อตั้งหลายคนฆ่าตัวตายเพราะความกดดันที่ต้องการจะพบเจอความยิ่งใหญ่ เบื้องหลังของความสำเร็จที่ดูทันทีทันใด คือการผสมผสานของเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อ และคราบน้ำตา ที่สร้างเรื่องราวของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ


ทำความเข้าใจกับอุตสาหกรรม Fintech


เรามักได้ยินคำว่า ‘disruption’ ในโลกของสตาร์ทอัพ การ disrupt เป็นวิธีหนึ่งที่ธุรกิจจะสร้างตลาดและเครือข่ายที่จะแทนที่ระบบตลาดแบบเดิมที่เป็นอยู่ Uber คือการ disrupt ในอุตสาหกรรมการคมนาคม เช่นเดียวกับ Facebook ที่ disrupt วิธีการที่เราติดต่อสื่อสาร ทุกวันนี้ เรากำลังเดินเข้าสู่การ disrupt ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการการเงินที่เราเรียกว่า “การปฏิวัติ Fintech” คำว่า Fintech ถูกย่อมาจาก Financial Technology หรือ เทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการออกแบบสินค้าทางการเงิน และวิธีการส่งสินค้าแก่ผู้บริโภคในมิติใหม่


ความต้องการในบริการทางการเงิน เช่น การส่ง การรับ การยืม และการจ่ายเงิน กลายเป็นปัญหาที่อยู่คู่วิวัฒนาการมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือในรูปแบบของธนบัตร Fintech คือการเปลี่ยนแปลงสมการอุปทาน หรือวิธีการให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบใหม่ ด้วยวิธีเดียวกันกับการที่ Facebook และ social media ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าในวงการการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล ความต้องการในการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของมนุษย์ เหตุผลที่ทำให้ Facebook ขยายอย่างรวดเร็วก็เพราะสามารถสร้างสมการอุปทานที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์และบริการแบบเดิม เช่น การเขียนจดหมายที่ถูกส่งโดยไปรษณีย์


มันสำคัญที่จะเข้าใจว่า Fintech ไม่ใช่รากความรู้ใดความรู้หนึ่ง แต่เป็นการรวบรวมของฐานความรู้ด้านต่างๆ เช่น การกู้ยืมกันระหว่างบุคคลต่อบุคคล (peer-to-peer lending) ระบบความปลอดภัยของข้อมูล (data security) ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) บล็อกเชน (blockchain) บิ๊กดาต้า (big data) ที่ปรึกษาการลงทุนแบบอัตโนมัติ (robo-adviser) และการระดมทุนแบบ crowdfunding ทุกสิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงระบบ ‘ดั้งเดิม’ ของการธนาคารอย่างรวดเร็ว


เหตุผลที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ Fintech ในตอนนี้


เดิมที เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้น อุตสาหกรรมธนาคารมีการปรับตัวที่ดีในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ เพื่อที่จะให้บริการทางการเงินที่ดีขึ้น แต่หลังจากเกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 ธนาคารจึงใส่ใจมากขึ้นในด้านกฎเกณฑ์ และข้อบังคับ นวัตกรรมกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามเนื่องจากไม่มีสถาบันไหนที่จะต่อกรความเป็นอยู่ของธนาคาร ในทางกลับกัน นวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตได้ถูกกำเนิดขึ้นจำนวนมาก ทุกวันนี้หลายสิ่งหลายอย่างกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ตัวอย่างเช่น Uber iPhone Airbnb และ Whatsapp ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปเนื่องจากเทคโนโลยี ทำให้เกิดช่องว่างระหว่าง สิ่งที่ธนาคารกำลังนำเสนอที่ยังคงใช้สมการอุปทานแบบเดิม และสิ่งที่ลูกค้าออนไลน์ต้องการในแง่ของประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นและความสะดวกสบาย ช่องว่างนี้เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรม Fintech กำลังแก้ปัญหาอยู่


Social Banking กำลังจะมา


Facebook มีใบอนุญาตมากกว่า 50 ใบในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ในการส่งเงินผ่านแอปพลิเคชันส่งข้อความของ Facebook ทางฝั่ง Amazon ก็กำลังทดลองการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผ่านระบบของตัวเอง รวมไปถึงแอปฯ ส่งข้อความของ Tencent ที่เรารู้จักในชื่อ WeChat ก็เป็นหนึ่งในช่องทางที่ถูกใช้งานมากที่สุดในการโอนเงิน เมื่อตรุษจีนที่ผ่านมา มีการให้ซองอังเปามากกว่า 8 ล้านซอง ผ่านระบบ WeChat ยิ่งไปกว่านั้น มันไม่ได้เพียงให้เราสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้เท่านั้น หรือลงทุนในกองทุนผ่านทางโทรศัพท์ของเรา แต่ยังสามารถนัดหมอ เรียกแท็กซี่ บริจาคเงินให้มูลนิธิ โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกจากแอปเลย แพลตฟอร์มทางการเงินในอนาคตจะไม่ได้เป็นธนาคารดั้งเดิมอีกต่อไป แต่จะเป็นบริษัทเทคโนโลยี รุ่นลูกของเราจะไม่ได้เป็นคนที่เปิดบัญชีแรกที่ธนาคารกสิกร หรือ UOB แต่จะเป็นที่ Facebook Apple หรือ Line


หลังจากที่ได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในความต้องการของผู้บริโภค ธนาคารดั้งเดิมก็เริ่มที่จะกังวลกับบริษัทเทคโนโลยี เพราะจำนวนลูกค้าในแต่ละวันของธนาคารเหล่านี้กำลังมีทางเลือกอื่นๆ ในการใช้บริการทางการเงิน การผูกขาดทางความไว้วางใจของผู้คนที่มีต่อธนาคารในด้านการเงินกำลังถูกทำลายลง บริษัทเทคโนโลยีก็ได้รับความเชื่อใจจากผู้คนเช่นกัน หากคนรู้สึกมั่นใจที่จะส่งรูปของลูกๆ ตัวเองผ่าน Facebook มันก็คงไม่แปลกถ้าเขาจะส่งเงินผ่านทางนั้นเช่นกัน หากคนสามารถซื้อข้าวของผ่านทาง Amazon ได้ ก็สามารถที่จะซื้อประกัน หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ได้ไม่ต่างกัน มีสตาร์ทอัพด้าน Fintech ที่เกิดขึ้นใหม่หลายพันแห่งที่กำลังแตกบริการต่างๆ ของธนาคารออก การกู้ยืมระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือ P2P lending ในตอนนี้ให้บริการกู้ยืมที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคาร ระบบที่ปรึกษาการลงทุนอัตโนมัติ หรือ robo-advisory system สามารถให้บริการในการจัดการทรัพย์สินที่ทั้งโปร่งใสในอัตราค่าบริการ และถูกกว่าแบบเดิมอย่างมาก สิ่งที่ทำให้ธนาคารต้องกังวลมากที่สุดคือการที่สตาร์ทอัพสาย Fintech เหล่านี้สามารถเลือกที่จะเข้าไปแก้ไขในบางส่วนบางบริการของธนาคารเท่านั้น โดยเฉพาะส่วนที่สร้างกำไรได้มากที่สุด


การปฏิวัติ Fintech เปลี่ยนแปลงการธนาคารอย่างไร


การเกิดขึ้นของ Fintech ทำให้ธนาคารต้องกลับมาคิดใหม่ว่าพวกเขาจะปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างไร การมาของอินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์ และการกำเนิดขึ้นของสมาร์ทโฟน กลายเป็นนวัตกรรมครั้งใหญ่ เพียงแค่ในห้าปีที่ผ่านมา การลงทุนในบริษัทเอกชนด้าน Fintech เพิ่มขึ้นจาก 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2010 เป็น 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2015 บริษัท Fintech เหล่านี้กำลังสร้างระบบการธนาคารที่ใหม่และสร้างสรรค์ Citibank ระบุว่า อาชีพด้านการธนาคารจะสูญหายมากกว่า 2 ล้านงานในอีก 10 ปีข้างหน้า การลดจำนวนนี้จะเกิดจากการลงทุนในบริษัทด้าน Fintech ที่มากขึ้น รวมไปถึงการที่ลูกค้าเลือกที่จะใช้แอปธนาคารผ่านทางบริษัทมากกว่าการเข้าไปที่สาขา เขาคาดการณ์ว่าธนาคารดั้งเดิมจะลดจำนวนสาขาลงถึง 50% ในอีก 10 ปีที่จะถึงนี้ ตอนนี้ธนาคารรับรู้ว่าสภาพแวดล้อมนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว และในการที่จะอยู่รอดได้ พวกเขาต้องปรับตัว บางธนาคารอาจจะรอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในขณะที่อีกหลายที่ก็อาจจะไม่ ธนาคารที่จะอยู่รอดได้จะเห็นถึงบริการที่ Fintech กำลังเสนอ และจะนำมันมาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่ตัวเองมีในขณะนี้ ไม่ว่าจะในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้า หรือการลดต้นทุน บางธนาคารจะไม่รอดจากการเปลี่ยนแปลงนี้ มีเพียงธนาคารที่ยอมรับในเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จได้ในอนาคตอันใกล้นี้


Comments


bottom of page