ความสำคัญของการลงทุนในวิวัฒนาการของบล็อกเชน
บล็อกเชนเป็นเสมือนสิ่งที่มีชีวิตทางดิจิทัล ในขณะที่สิ่งมีชีวิตเกิดวิวัฒนาการจากการเปลี่ยนแปลงของ DNA โปรโตคอลของบล็อกเชนเกิดวิวัฒนาการจากที่โค้ด และเหมือนกันกับสิ่งมีชีวิตทางชีววิทยา บล็อกเชนที่มีการปรับตัวมากที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดและเจริญเติบโต
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการในบล็อกเชนล่ะ? การ Fork คือกระบวนการสำคัญที่กำลังแพร่หลายมากขึ้น Fork สามารถเพิ่มความเร็วในการเกิดวิวัฒนาการโดยการให้แนวทางที่ต่างกันสามารถถูกทดลองขนานกันได้ อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกว่ามีปัญหาหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเลย นั่นก็คือ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่โปรโตคอลสำคัญของบล็อกเชน ผลตอบแทนเหล่านี้เป็นที่ขาดแคลนในเกือบทุกบล็อกเชนที่สำคัญ ณ ขณะนี้ และเป็นโอกาสที่จะสามารถเร่งความเร็วของการพัฒนาได้
ผลตอบแทนที่ไม่เพียงพอในการพัฒนาโปรโตคอลหลักสามารถเห็นได้จากการที่จำนวนของคนที่มีส่วนร่วมกับการพัฒนา Token ของ Ethereum เมื่อเทียบกับคนจำนวนน้อยมากที่พัฒนาตัวของ Ethereum บล็อกเชนเอง การสร้าง Token ใหม่ได้ทำให้เกิดเศรษฐีเงินล้านจำนวนมากในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ถ้าหากคุณมีส่วนร่วมในการแก้โค้ด Ethereum อย่างมากคุณจะได้เพียง 1) เป็นเจ้าของ ETH ปริมาณหนึ่งที่ราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2) ต้องเข้าร่วม Ethereum Foundation และได้รับเงินจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเทียบได้กับมูลค่าของการสร้าง Token ใหม่ที่ประสบความสำเร็จ เป็นเหตุให้ Ethereum เริ่มจะได้รับผลกระทบจาก โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ (Tragedy of the commons) นั่นคือ ถึงแม้ว่าคนจำนวนมากจะถือ ETH และได้รับผลประโยชน์จากการที่ Ethereum ได้รับการพัฒนา แต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสำหรับนักพัฒนาแต่ละคนกลับน้อยมาก
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บล็อกเชนที่มีมูลค่ามหาศาลถึงมีคนที่พัฒนามันไม่เยอะมาก แม้จะมีมูลค่ามากกว่า 2.6 ล้านล้านและ 9 ล้านล้านบาท แต่มีเพียงแค่นักพัฒนา 15 คนใน Ethereum และ Bitcoin ตามลำดับ อีกทั้งอัตราการพัฒนาก็เติบโตได้ไม่เท่ากับความนิยมที่สูงขึ้น
นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะการพัฒนาโปรโตคอลเหล่านี้สามารถสร้างมูลค่ามากมายมหาศาล อย่างเช่น ถ้าหากมีใครบางคน หรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง สร้างโซลูชั่นสำหรับ Ethereum เช่น Sharding หรือ Plasma การพัฒนาเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มมูลค่าของ Ethereum มากกว่า 10% หรือประมาณ 2.6 แสนล้านสำหรับราคาของ Ether ในปัจจุบัน
แล้วเราจะให้ผลตอบแทนแก่คนที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของโปรโตคอลนี้ได้อย่างไร?
การลงทุนโดยเอกชนเป็นหนึ่งในวิธีแรกที่ถูกใช้ ในอดีตมหาวิทยาลัย MIT ให้การสนับสนุนนักพัฒนาหลักของบิทคอยน์ Gavin Andresen, Wladimir van der Laan และ Cory Fields ในปี 2015 โปรเจ็คบางตัวอย่าง Blockstack ก็ได้รับทุนจากนายทุนและ VC เพื่อลงทุนในโปรเจ็คที่ถูกสร้างขึ้นบนโปรโตคอล แต่กรณีนี้อาจจะต่างกันเพราะไม่ใช่การสนับสนุนโปรโตคอลหลักโดยตรง การลงทุนภาคเอกชนอาจจะเป็นก้าวแรกที่ดีเพราะมีความรวดเร็ว แน่วแน่ และคล่องตัว แต่ทางเศรษฐกิจอาจไม่ลงตัวเมื่อถึงจุดหนึ่ง ถ้าโปรโตคอลมีการพัฒนาอย่างเช่น Sharding ใน Etheruem อาจสร้างมูลค่า 2.6 แสนล้าน การลงทุนภาคเอกชนไม่สามารถขยายได้ใกล้เคียงกับการตอบสนองต่อมูลค่าที่ถูกเพิ่มขึ้น
Public crowdfunding เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้ถูกทดลองในบล็อกเชน หรืออาจจะยังไม่มีอันไหนที่ประสบความสำเร็จพอจนทำให้นึกออก การยกตัวอย่างทางทฤษฎีได้แก่ การที่ Ethereum Foundation ประกาศให้ crowdfund สำหรับการสร้าง feature ล่ารางวัล (feature bounty) ในที่นี้ public crowdfunding ก็เป็นอีกวิธีที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ (Tragedy of the commons) เพราะทุกคนจะอยากได้รับผลประโยชน์จากการ crowdfunding แต่จะได้รับผลประโยชน์หากเป็นเพียงแค่ผู้ชมและหวังว่าจะมีใครสักคนมาลงทุนแทน
ให้ผลตอบแทนด้วย Inflation funding
Inflation funding เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น เพราะสามารถให้ผลตอบแทนที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ จากเดิมที่ หากผู้ถือ Ether เชื่อว่าการอัพเกรด (เช่น Sharding) จะสามารถทำให้มูลค่าโตขึ้นมากกว่า 10% เขาก็พร้อมที่จะจ่ายเงินเกือบ 10% ของจำนวน Token ที่ตัวเองถืออยู่เพื่อให้เกิดการอัพเกรดขึ้น นั่นหมายความว่า Ethereum สามารถ crowdfund ในการล่ารางวัลเพื่อสร้างฟีเจอร์โดยการเพิ่มจำนวน ETH อีก 10% ในระบบขึ้นและจ่ายให้แก่ผู้พัฒนาสำหรับฟีเจอร์ใหม่ เหตุการณ์นี้สามารถเปรียบได้กับภาษี คนทุกคนในเครือข่ายลงขันกันเพื่อลงทุนในการสร้างโครงสร้างสาธารนะ (เช่น ถนน) ที่ไม่มีใครสร้างด้วยตัวคนเดียว
การลงทุนในการพัฒนาโปรโตคอลผ่านการเฟ้อของมูลค่าของเหรียญจะทำให้ทุกคนในโลกสามารถมีส่วนร่วมได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่มีใครที่อยากจะถูกว่าจ้างโดยกลุ่ม foundation โดยเฉพาะ หรือเปิดเผยตัวตนสู่สาธารณะ การพัฒนาที่สำคัญใน Bitcoin และ Mimblewimble บางอย่างก็ถูกพัฒนามาโดยไม่มีการเปิดเผยตัวตน สุดท้ายแล้วเงินทุนจากการขายเหรียญที่ถูกแบ่งออกเพื่อการพัฒนาโปรโตคอลในอนาคตก็จะหมดไป และนี่ก็เหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีเมื่อถึงจุดนั้น
ตัวอย่างของวิธีนี้คือ นักพัฒนาส่ง pull request ให้แก่ Ethereum community เสนอวิธีการ Sharding ที่สามารถใช้งานได้จริง สังคมผู้ถือก็จะแสดงความคิดเห็นและทดลองใช้ ผู้ถือ Ether ก็จะทำการลงคะแนนเพื่อ 1) ตัดสินใจว่าการอัพเกรดนี้จะถูกใช้หรือไม่ และ 2) หากใช้แล้ว ขนาดของเงินรางวัลควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ pull request ก็จะทำการเพิ่มจำนวนของ ETH ในระบบ และส่งไปยัง address ของนักพัฒนา วิธีนี้อาจต้องใช้ hard fork ในครั้งแรก แต่อาจไม่จำเป็นต่อไปในอนาคต จำนวนของเงินรางวัลก็จะยุติธรรมเพราะผู้ถือ Ether ต้องการที่จะให้ผลตอบแทนแก่นักพัฒนาให้คอยสร้างการพัฒนาแบบนี้อีกเรื่อยๆ ในอนาคต
ฟีเจอร์การล่ารางวัล เป็นวิธีที่ทรงพลังในการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง โปรโตคอลที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักพัฒนาก็มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาได้เร็วกว่าโปรโตคอลที่ให้ผลตอบแทนน้อย ดังนั้น บล็อกเชนที่ลงทุนในนวัตกรรมผ่านการเฟ้อของเหรียญ (token inflation) จึงอาจดูเหมือนว่ามีวิธีการเกิดวิวัฒนาการที่ดีกว่า และในระยะยาว อัตราการเปลี่ยนแปลงก็มักจะสำคัญกว่าที่ว่าบล็อกเชนใดที่เกิดก่อน
บางที วิธีที่นักออกแบบโปรโตคอลจะสามารถทุ่นแรงได้ดีที่สุดก็คือการคิดหาวิธีในการสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดนวัตกรรมของบล็อกเชนตัวเอง โดยเฉพาะการให้ผลตอบแทนแก่ผู้ที่เข้ามาพัฒนา สิ่งมีชีวิตที่มีวิศวกรรมที่ดีที่สุดจะสามารถวิ่งได้รวดเร็วกว่า แม้จะเริ่มต้นเล็กกว่าหรือช้ากว่า
นี่อาจจะเป็นก้าวที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขสัมการของอัตราการเกิดนวัตกรรมในบล็อกเชนหากสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ถูกวิธี โดยการใช้ประโยชน์จากการปราศจากศูนย์กลาง นวัตกรรมจะสามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็วมากยิ่งกว่าองค์กรที่มีศูนย์กลางสามารถที่จะทำได้
Comentários